ชิงเหรียญบรอนซ์ ทุกครั้งต้องมีสกอร์ แมตช์ที่มากกว่าสองทีมอกหักเจอกัน

#SSxKMD | คืนนี้สี่ทุ่ม โครเอเชีย รองแชมป์เก่า กับโมร็อกโก จะลงสนามเตะชิงอันดับ 3 เวิลด์คัพ กาตาร์ 2022 กระแสความสนใจของทั้งสื่อมวลชนและแฟนบอลทั่วโลกค่อนข้างเงียบเหมือนปกติสำหรับการชิงเหรียญบรอนซ์ระหว่างสองชาติอกหักจากนัดตัดเชือก แถมคู่ชิงปีนี้เป็นสองชาติใหญ่ ซึ่งมีสองซูเปอร์สตาร์ ลิโอเนล เมสซี กับ คีลิยัน เอ็มบัปเป เป็นดาราชูโรงเรียกแขก

อย่างไรก็ตามเกมคืนนี้ยังมีประเด็นที่รอคำตอบอยู่บ้าง สิงโตแห่งเทือกเขาแอตลาสคงแฮปปี้เอนดิ้งมากกว่าถ้าเป็นชาติแรกจากอาหรับและแอฟริกาที่ยืนแป้นอันดับ 3 เช่นเดียวกับลูกา โมดริช ที่อยากมีเหรียญบรอนซ์คล้องคอพร้อมปิดฉากฟุตบอลโลกในวัย 37 ปี กับสถิติเล่นให้โครเอเชีย 162 นัด แม้ว่าทีมชาติยังหวังให้ยอดมิดฟิลด์ลงสนามจนถึงยูโร 2024

ถ้าความปรารถนาของแฟนบอลคือการได้เห็นประตู ก็มีโอกาสเป็นจริงสูง เนื่องจากยกเว้นปี 1930 และ 1950 ที่ไม่มีการเตะเพลย์ออฟอันดับ 3 พบว่าไม่มีแมตช์ชิงเหรียญบรอนซ์ครั้งไหนที่ลงเอยด้วยสกอร์ 0-0 อีกทั้งนับตั้งแต่โปแลนด์เฉือนบราซิล 1-0 เมื่อปี 1974 แฟนบอลได้เห็นการทำสกอร์สองประตูเป็นอย่างต่ำระหว่างการแข่งขันเวลาปกติ

นับตั้งแต่ฟีฟากำหนดให้เตะชิงอันดับ 3 เมื่อปี 1934 มีเพียงสามครั้งเท่านั้นที่ลงเอยด้วยผล 1-0 คือ ชิลีชนะยูโกสลาเวียในปี 1962, เยอรมนีตะวันตกชนะอุรุกวัยในปี 1970 และโปแลนด์ชนะบราซิลในปี 1974

แมตช์ชิงเหรียญบรอนซ์ 4 จาก 7 นัดหลังสุดหรือนับจากปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา มีการทำสกอร์ 4 ประตูเป็นอย่างต่ำ รวมทั้งหมด 26 ประตู เทียบกับแมตช์อื่นๆในบอลโลกช่วงเวลาเดียวกัน (ปี 1994 ถึงปี 2018) มีแค่นัดเดียวเท่านั้นที่มีการทำสกอร์มากกว่า 4 ประตูคือ ฝรั่งเศสชนะโครเอเชีย 4-2 ในปี 2018 ที่รัสเซีย (ไม่นับเวิลด์คัพที่กาตาร์)

ในประวัติศาสตร์เวิลด์คัพ ซึ่งมีแมตช์ชิงเหรียญบรอนซ์ 19 จาก 21 ครั้ง (ย้ำ..ไม่มีการเตะในปี 1930 และ 1950) แฟนบอลได้เห็นลูกหนังซุกก้นตาข่ายรวมถึง 73 ประตู เทียบกับ 77 ประตูจากนัดชิงชนะเลิศเวิลด์คัพ 21 ครั้ง ซึ่งหากหาค่าเฉลี่ยต่อนัด ชิงเหรียญบรอนซ์ 3.84 ประตู ส่วนชิงเหรียญทอง 3.66 ประตู … คุณต้องการประตู คุณจะได้(เห็น)ประตู ความเป็นไปได้บอกไว้เช่นนั้น

ยังมีการทำลายสถิติบอลโลกให้รอลุ้น ฮาคาน ซูเคอร์ เป็นครอบครองสถิติทำสกอร์เร็วที่สุดในเวิลด์คัพที่ 11 วินาที ซึ่งเกิดขึ้นในเพลย์ออฟชิงอันดับ 3 ระหว่างตุรกีกับเกาหลีใต้เมื่อปี 2002

ว่ากันว่า การแข่งขันรอบรองชนะเลิศมีแนวโน้มแต่ละทีมเน้นแผนการเล่นที่ค่อนข้างรัดกุม ไม่ได้ประตูก็อย่าเสียประตู ยกเว้นนัดที่ประตูแรกเกิดขึ้นเร็ว ฝ่ายตามมักเสี่ยงเปิดเกมรุกมากขึ้นและนำไปสู่การโดนยิงเพิ่ม แต่นัดชิงอันดับ 3 แม้มีเหรียญบรอนซ์เป็นรางวัล แต่มีแนวโน้มที่สองฝ่ายจะเล่นด้วยความผ่อนคลายจนแฟนบอลรู้สึกเหมือนกำลังชม exhibition match

ปูมประวัติศาสตร์ยังระบุว่า สกอร์ในแมตช์มีผลถึงตำแหน่งโกลเดนบู๊ทหรือรางวัลดาวซัลโวสูงสุดของเวิลด์คัพ ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งเริ่มจาก ซัลวาตอเร “โตโต” สคิลลาชี ซึ่งยิงจุดโทษให้อิตาลีเฉือนชนะอังกฤษในศึกลูกหนัง อิตาเลีย 1990 พร้อมคว้ารองเท้าทองคำไปครอง ตามด้วยดาเวอร์ ซูเคอร์ ทีมชาติโครเอเชีย ปี 1998 และโธมัส มุลเลอร์ ทีมชาติเยอรมนี ปี 2010

อย่างไรก็ตามคงไม่เกิดที่กาตาร์เพราะดาวซัลโวสูงสุดของโครเอเชียและโมร็อกโกคือ อังเดรจ์ คามาริช และยุสเซฟ เอ็น-เนซีรี ทำได้คนละ 2 ประตู ตามหลังสองจ่าฝูง เมสซีและเอ็มบัปเปถึง 3 ประตู แถมทั้งคู่ยังมีโอกาสเพิ่มตัวเลขอีกด้วย

ตบท้ายด้วยสถิติ เยอรมนีเป็นชาติที่ยืนแป้นอันดับ 3 บ่อยที่สุดคือ 4 ครั้ง ตามด้วยโปแลนด์, ฝรั่งเศส, สวีเดน และบราซิล ชาติละ 2 ครั้ง อุรุกวัยมีโอกาสลุ้นเหรียญบรอนซ์คล้องคอมากที่สุดคือ 3 ครั้งในปี 1954, 1970, 2000 แต่กลับทำได้แค่อันดับ 4 ขณะที่สเปนและอาร์เจนตินาเป็นสองชาติที่ครองแชมป์โลกแต่ไม่เคยได้เล่นนัดชิงอันดับ 3 ไม่รวมปี 1950 ซึ่งทีมกระทิงดุได้อันดับ 4 เพราะรอบชิงชนะเลิศปีนั้นแข่งแบบพบกันหมดระหว่างสี่ทีมสุดท้าย

และเหรียญบรอนซ์คล้ายเป็นโชคร้ายสำหรับชาติยุโรปที่ได้มาระหว่างสี่ทศวรรษหลังสุดได้แก่ โปแลนด์ (1982), ฝรั่งเศส (1986), อิตาลี (1990), สวีเดน (1994), โครเอเชีย (1998), ตุรกี (2002) และ เนเธอร์แลนด์ (2014) ทุกประเทศตกรอบคัดเลือกฟุตบอลยูโรครั้งต่อไป

เรียบเรียง: KMD Content Team

ภาพ: BBC England

ที่มา: soccersuck

ความคิดเห็น

ความคิดเห็น

จำนวนคนดู: